ย่อ / ขยาย

ผู้ขับเคลื่อนนาวา


ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 1 :
พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)  / พ.ศ. 2476 - 2482


พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เป็นบุคคลที่มีความคิดก้าวหน้า มีความรู้และมีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลที่บรรดาพ่อค้าให้ความเคารพนับถือ เปรียบดั่งเสาหลักขององค์กรที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

ในปี 2475 หลังจากประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย กระบวนทัศน์ด้านเศรษฐกิจไทยก็เริ่มแตกหน่อและเติบโตขึ้น ในช่วงเวลานั้นพ่อค้าไทยกลุ่มหนึ่งเห็นว่าการส่งเสริมให้คนไทยเห็นความสำคัญของการทำการค้า จะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ ในที่สุดจึงได้ตกลงกันจัดตั้งหอการค้าขึ้นตามแบบอย่างที่เห็นจากต่างประเทศ ใช้ชื่อเรียกในเบื้องต้นว่า “Siamese Chamber of Commerce” แต่ยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับชื่อภาษาไทย

ต่อมาพระยาภิรมย์ภักดีซึ่งเป็นประธานที่ประชุมชั่วคราวจึงได้เข้าเฝ้าขอประทานชื่อภาษาไทยจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ได้ชื่อประทานว่า “สภาคารการค้า” จากนั้นที่ประชุมจึงได้มอบให้พระยาภิรมย์ภักดีพร้อมคณะไปจดทะเบียนก่อตั้งสมาคม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2476 แต่รัฐบาลได้สงวนคำว่า “สภา” ไว้เฉพาะองค์กรของรัฐ ดังนั้นคณะผู้ก่อตั้งจึงใช้ชื่อว่า “หอการค้า” แทน

การถือกำเนิดขึ้นของหอการค้าไทยในวันนั้น คณะพ่อค้านักธุรกิจต่างพร้อมใจกันเชิญ พระยาภิรมย์ภักดีให้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทยคนแรก เนื่องจากบทบาทของท่านได้รับการยอมรับในวงการธุรกิจ และยังทำงานช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง พระยาภิรมย์ภักดีมีแนวทางดำเนินงานของหอการค้าไทยในสมัยแรกให้เป็นองค์กร ที่ส่งเสริมให้คนไทยเห็นความ สำคัญของการทำการค้า ซึ่งได้นำพาประเทศไปสู่ความเจริญมั่นคงในเวลาต่อมา

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 2 :
ขุนเลิศดำริห์การ (ร้อยตำรวจโทแช ลิมปะสุวัณณ) / พ.ศ. 2482


ขุนเลิศดำริห์การ (ร้อยตำรวจโทแช ลิมปะสุวัณณ) ผู้มีแนวคิดในการจัดพิมพ์ระเบียบปฏิบัติของกรมตำรวจ เพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการตำรวจเป็นครั้งแรก และถือเป็นเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่จุดประกายแนวคิดให้ท่านเลือกที่จะเดินบนเส้นทางสายธุรกิจจนมีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดตั้งหอการค้าไทย

นอกจากขุนเลิศดำริห์การจะเป็นเจ้าของห้างจาตุรงคอาภรณ์ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และทันสมัยมากในเวลานั้นท่านยังได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการหอการค้า ซึ่งถือเป็นงานหนักอย่างมากในยุคของการก่อตั้งองค์กร แต่ถึงกระนั้น หอการค้าก็ได้รับการยอมรับจากบรรดาพ่อค้านักธุรกิจ มีการจัดกิจกรรมพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงปาฐกถาอย่างสม่ำเสมอ อีกด้วย

ระยะแรกหอการค้าไทยประสบปัญหาต้องย้ายสถานที่ทำการหลายครั้ง ประมาณปลายปี 2480 หอการค้าไทยต้องย้ายจากตรอกกัปตันบุช ไปอยู่ ณ อาคารเช่าของพระคลัง ซึ่งอาคารดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จึงต้องซ่อมแซมด้วยเงินค่าบำรุงและค่าสมาชิกจนเกือบหมดสิ้น ในที่สุดขุนเลิศดำริห์การจึงได้ให้ใช้อาคารชั้นบนของห้างจาตุรงคอาภรณ์เป็นสถานที่ทำการ แต่อยู่ที่นั่นได้ไม่นานก็มีเหตุให้ต้องย้ายไปที่ห้างศิรินคร จากนั้นทางราชการได้มาขอเช่าอาคารดังกล่าว หอการค้าไทยจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกชั้นล่างของสยามโฮเต็ล โดยความช่วยเหลือของท่านอีกเช่นเคยจึงถือว่าท่านเป็นผู้โอบอุ้มหอการค้าไทยอย่างแท้จริง

ในปี 2482 สมาชิกหอการค้าไทยจึงพร้อมใจกันเชิญขุนเลิศดำริห์การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 2 หลังจากที่ท่านได้ทุ่มเทสรรพกำลังทุกวิถีทาง เพื่อค้ำจุนและรักษาองค์กรแห่งนี้ไว้ให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติจวบจนปัจจุบัน

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 3 :
นายจุลินทร์ ล่ำซำ / พ.ศ. 2483 - 2486 / พ.ศ. 2489 - 2490 / พ.ศ. 2492 - 2495


นายจุลินทร์ ล่ำซำ นักธุรกจผู้มีความสามารถจากตระกูลผู้บุกเบิกธุรกิจด้านประกันภัยและการธนาคารของไทย และยังมีความเสียสละในการทำงานเพื่อส่วนรวม จึงได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทย คนที่ 3 ท่านได้บริหารงานของหอการค้าอย่างเข้มแข็งตลอดระยะเวลายาวนานถึง 9 ปี

ช่วงระยะเวลานั้น หอการค้าไทยประสบปัญหาหลายประการ ทั้งขาดแคลนเงินทุนและไม่มีสถานที่ทำการถาวร นายจุลินทร์จึงช่วยกอบกู้สถานการณ์ด้วยการประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์จัดงานแสดงสินค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญ และมอบรางวัลให้แก่ห้างร้านที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ผลิตสินค้า และสนองนโยบายของรัฐ จากนั้นจึงนำรายได้ส่วนหนึ่งไปสร้างตึกพาณิชย์ภัณฑ์ บริเวณสนามเสือป่า เป็นที่ทำการถาวรของหอการค้าไทย หอการค้าไทยจึงมีชื่อเสียง และฐานะทางการเงิน ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรแล้ว นายจุลินทร์ยังได้ริเริ่มให้จัดตั้ง “วิทยาลัยการค้า” ด้วยเห็นว่าคนในสมัยนั้นนิยมให้บุตรหลานรับราชการ ทำให้ขาดบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้านการค้า หากมีโรงเรียนที่สร้างบุคลากรด้านการค้าโดยเฉพาะก็น่าจะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจของประเทศ แต่วิทยาลัยการค้าที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นก็ต้องยุติการสอน เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลจึงได้นำอาคารเรียนไปใช้เพื่อเป็นที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น

ด้วยเหตุดังกล่าวหอการค้าไทยจึงต้องย้ายสถานที่ทำการอีกครั้ง คณะกรรมการหอการค้าจึงขอซื้อที่ดินบริเวณถนนราชบพิธจากนายจุลินทร์ ด้วยเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เจ้าตัวจึงตกลงขายที่ดินให้หอการค้าในราคาถูก สถานที่ดังกล่าวจึงเป็นสถานที่ทำการของหอการค้าไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2486 กระทรวงพาณิชย์ได้ขอชื่อของหอการค้าไทยจากคณะกรรมการฯ เพื่อไปดำเนินงานในลักษณะกึ่งราชการ แต่ภายหลังกระทรวงพาณิชย์มิได้ดำเนินการใดๆ คณะกรรมการฯ จึงได้เจรจาขอชื่อหอการค้าไทยกลับคืนมา และได้จดทะเบียนใหม่ชื่อว่า “หอการค้ากรุงเทพ” โดยนายจุลินทร์ก็ได้กลับมาทำประโยชน์ให้แก่องค์กรอีกครั้งในตำแหน่งประธานหอการค้ากรุงเทพ

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 4 :
นายสัญญา ยมะสมิต / พ.ศ. 2491


นายสัญญา ยมะสมิต ผันตัวเองจากการเป็นนักเรียนนายเรือมาสู่โลกธุรกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จในหลากหลายวงการ อาทิ ธุรกิจตัวแทนขายรถยนต์จากยุโรป ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บุกเบิกธุรกิจประกันชีวิต และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมประกันชีวิตไทยคนแรกยาวนานถึง 8 สมัย ด้วยเหตุนี้นายสัญญาจึงได้รับความไว้วางใจจากนักธุรกิจให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 5 ในปี 2491 หลังจากอยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรนี้มายาวนาน

ในช่วงที่ภาวะบ้านเมืองเกิดวิกฤตจากผลของสงครามโลกครั้งที่สองกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้หอการค้าไทยดำเนินการจัดสรรข้าวสารรวมถึงสินค้าที่ขาดแคลนอื่นๆ ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้หอการค้าไทยมีรายได้จนสามารถซื้อที่ดินและก่อสร้างสำนักงานหอการค้าไทยได้ในเวลาต่อมา

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 5 :
นายเล็ก โกเมศ / พ.ศ. 2493


นายเล็ก โกเมศ ได้รับการศึกษาภาษาไทยจากโรงเรียนวัดสุวรรณาราม ธนบุรี เป็นเวลา 4 ปี จากนั้นจึงไปศึกษาภาษาอังกฤษจากครูฝรั่งที่โรงเรียนวัดมหาพฤฒาราม อีก 4 ปี เมื่อศึกษาจบแล้ว จึงมาทำงานที่ห้างสั่งสินค้าของฝรั่งชื่อชิตเต็นเด็นอีกหลายปี ก่อนจะเลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้จัดการและคอมปราโดร์ (นายหน้าที่ทำธุรกิจกับคนต่างชาติ) ระหว่างนั้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อุบัติขึ้น ห้างที่นายเล็กทำงานอยู่เป็นของชาวเยอรมันจึงถูกสั่งเลิกกิจการ นายเล็กจึงตั้งห้างขายยาและน้ำหอมชื่อห้างโกเมศ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น ต่อมาบริษัทฝรั่งได้ว่าจ้างให้นายเล็กไปค้าขายแทนบริษัทในต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสดีเนื่องจากเจ้าตัวประสงค์จะไปศึกษางานการค้าที่ต่างประเทศอยู่แล้ว ทำให้มีประสบการณ์ด้านการติดต่อการค้ากับประเทศต่างๆ ด้วยเหตุดังกล่าว นายเล็กจึงเป็นบุคคลที่พ่อค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักกันทั่วไป

จากการเดินทางไปติดต่อค้าขายหลายประเทศ นายห้างเล็กจึงมีความคิดริเริ่มที่จะก่อตั้งหอการค้าขึ้น ด้วยตระหนักว่าคนไทยในขณะนั้นเริ่มสนใจประกอบการค้ามากขึ้น จึงควรมีหอการค้าเช่นเดียวกับชาติอื่น เพื่ออำนวยประโยชน์ด้านความสามัคคี ด้านการประสานงานระหว่างรัฐกับพ่อค้า ตลอดจนได้ช่วยเหลือพ่อค้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีการนัดหมายประชุมพ่อค้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2475 ณ บ้านนายเล็ก โกเมศ ตรอกกัปตันบุช

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของหอการค้าไทยในระยะแรกยังขาดปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเงินทุน สถานที่ เจ้าหน้าที่ และขาดความร่วมมือจากทางราชการ ตลอดจนขาดความร่วมใจจากพ่อค้าด้วยกันเอง แต่ก็ยัง มีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งรวมทั้งนายเล็ก ช่วยกันบริจาคเงินเป็นทุนเริ่มแรก นายเล็ก โกเมศจึงถือเป็นหนึ่งในผู้โอบอุ้มหอการค้าตั้งแต่แรกเริ่มตลอดจนช่วงที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 5

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 6 :
นายสง่า วรรณดิษฐ์ / พ.ศ. 2494


นายสง่า วรรณดิษฐ์ นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในวงการก่อสร้าง ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงแรมรัตนโกสินทร์ อาคารวชิราวุธวิทยาลัย รวมถึงสร้างถนนหลานหลวง เป็นถนนคอนกรีตสายแรกของประเทศไทย เป็นต้น ท่านจึงได้นำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ต่างๆ มาทำงานให้เกิดประโยชน์แก่หอการค้าไทย

จากการที่หอการค้าไทยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่จัดสรรปันส่วนข้าวสารและสินค้าหลายอย่างให้แก่ประชาชนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หอการค้าไทยเริ่มมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้ขอชื่อหอการค้าไทยจากคณะกรรมการฯ ไปอุปการะ คณะกรรมการฯ เห็นว่าน่าจะเป็นผลดี จึงได้แต่งตั้งผู้แทนเจรจากับกระทรวงพาณิชย์เพื่อมอบชื่อหอการค้าไทยให้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรับอุปการะวิทยาลัยการค้าด้วย ดังนั้น ในปี 2486 คณะกรรมการฯ จึงได้จัดตั้งองค์กรในรูปแบบสมาคมแทน ชื่อว่า “สมาคมพ่อค้าไทย” มีนายสง่า วรรณดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพ่อค้าไทยคนแรก หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์รับหอการค้าไทยไปอุปการะแล้วเป็นเวลา 3 ปี ก็ยังมิได้ดำเนินการใดๆ คณะกรรมการฯจึงได้แต่งตั้งผู้แทนเพื่อเจรจาขอชื่อคืน และฟื้นฟูบทบาทความสำคัญขององค์กรพร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “หอการค้ากรุงเทพฯ” และนายสง่าก็คือหนึ่งในกำลังสำคัญขณะนั้น

จนกระทั่งในปี 2494 นายสง่าจึงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 6 หลังจากที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่หอการค้าไทยมาโดยตลอด

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 7 :
พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม / พ.ศ. 2496 - 2499


พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2464 แล้วเริ่มปฏิบัติราชการในกองทัพบกจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเชวงศักดิ์สงครามเมื่อต้นปี 2475 และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับ ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลหลายสมัย อาทิ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น เมื่อท่านพ้นจากตำแหน่งราชการก็ได้มาประกอบอาชีพทางพาณิชยกรรม ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทห้างร้าน และธนาคารหลายแห่ง นับว่าได้รับความเชื่อถือไว้วางใจในแวดวงธุรกิจ

อนึ่ง ในปี 2497 คณะรัฐบาลได้มีมติให้จัดตั้ง “สภาการค้า” ขึ้นเป็นองค์กรกลางของพ่อค้านานาชาติในการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อส่งเสริมและจัดระเบียบการค้าให้มีระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานสินค้า ตลอดจนส่งเสริมด้านการส่งออก ต่อมาจึงมีการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2498 ซึ่งมี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ หลังจากนั้นจึงมีการประชุมใหญ่และเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2498 พันเอกช่วงซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและได้รับการยอมรับจากพ่อค้านักธุรกิจ จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาการค้าตั้งแต่ ปี 2499 - 2501

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 8 :
นายอาทร สังขะวัฒนะ / พ.ศ. 2500 - 2501


นายอาทร สังขะวัฒนะ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนทวีธาภิเษกวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) จากนั้นจึงได้มาทำงานที่ร้านค้าอาวุธปืนย่านวัดเกาะ มีผลงานดีจนได้เป็นหุ้นส่วนของร้าน และแยกออกมาเปิดกิจการเอง ต่อมาจึงขยายกิจการเป็นห้างอาทรพานิช จนกิจการเติบใหญ่เป็นบริษัท อาทรพานิช จำกัด และเป็นบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์อาทรทรัสต์ จำกัด ในที่สุด

จากความรู้ความสามารถประกอบกับประสบการณ์อันยาวนานในแวดวงธุรกิจ บรรดาพ่อค้าจึงยอมรับนับถือนายอาทรและไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพ่อค้าไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2492 และในปี 2512 รวมถึงให้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทยคนที่ 8 ระหว่างปี 2501 - 2502 อีกด้วย

เมื่อมีการจัดสร้างอาคารของหอการค้าไทย นายอาทรได้สละทรัพย์ส่วนตัวร่วมสร้างอาคารของหอการค้าไทยด้วย เมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยแล้ว ท่านจึงได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของหอการค้าไทยในเวลาต่อมา

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 9 :
นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ / พ.ศ. 2502 - 2507


นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ นักธุรกิจผู้ผันชีวิตจากการเป็นอาจารย์ใหญ่และผู้ก่อตั้งโรงเรียนเซเว่นเดย์ แอดเวนติส มาเป็นผู้บริหารมือทองที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ยืนหยัดแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างสง่างาม นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้นำสูงสุดในองค์กรหลักด้านเศรษฐกิจทั้ง 4 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย

นายบรรเจิดได้เข้ามาร่วมงานกับหอการค้าไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 9 และประธานสภาการค้าหรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2502 - 2508 

ในปี 2505 ท่านได้ริเริ่มจัดงานแสดงสินค้าขึ้นครั้งแรก และจัดขึ้นอีกครั้งที่ 2 ในปี 2507 เนื่องจากเห็นว่าคนไทยในสมัยนั้น ยังไม่นิยมบริโภคสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ทั้งที่คุณภาพก็มิได้ด้อยกว่าสินค้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ไทยเสียดุลการค้าอย่างมหาศาล การจัดงานในครั้งนั้น มีการให้ผู้ผลิตนำเครื่องจักรมาผลิตสินค้าแสดงให้ประชาชนเห็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าคนไทย มีฝีมือและผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งระบบ มิใช่เพียงการขายสินค้าลดราคาที่ได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ การแสดงสินค้าทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว หอการค้าไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินมา ทรงเป็นประธาน ในพิธี สร้างความปลาบปลื้มใจแก่ชาวหอการค้าไทยอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ นายบรรเจิดยังได้วางรากฐานที่สำคัญให้แก่สภาการค้า ด้วยการระดมทุนจากสมาชิกพร้อมทั้งบริจาคทรัพย์ส่วนตัว จัดสร้างอาคารสูง 4 ชั้น เพื่อเป็นสถานที่ทำการถาวร และได้ใช้ชั้น 3 และชั้น 4 เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของวิทยาลัยการค้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 10 :
นายสุริยน ไรวา / พ.ศ. 2508 - 2511


นายสุริยน ไรวา นักธุรกิจลำดับแรกๆ ของไทย ที่บุกเบิกวงการธุรกิจสมัยใหม่ แทบทุกแขนง จากประสบการณ์การทำงานในหลากหลายอาชีพ เช่น ตำรวจ นักการเมือง นายธนาคาร ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ผู้บริหารกิจการประกันภัย เป็นต้น ทำให้นายสุริยนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และได้นำประสบการณ์จากการทำงานมาทำประโยชน์ให้หอการค้าไทย

เมื่อปี 2507 นายสุริยนดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 3 ในสมัยที่นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จากนั้นนายสุริยนจึงก้าวสู่ตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 10 และดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 สมัย ระหว่างปี 2508 - 2511 นอกจากนี้ นายสุริยนยังดำรงตำแหน่งประธานสภาการค้าคนที่ 5 อีกด้วย และเมื่อบทบาทหน้าที่ของหอการค้าไทยมีความสำคัญเพิ่มขึ้นจนได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคม รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ.2509 ขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อ “สภาการค้า” เป็น “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ดังนั้นนายสุริยนจึงถือเป็นประธานคนแรกที่ได้ใช้ตำแหน่งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อคณะกรรมการหอการค้าไทยได้ฟื้นฟูวิทยาลัยการค้าขึ้นอีกครั้งในปี 2506 หลังจากต้องปิดการเรียนการสอนเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนายสุริยนดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย จึงได้วางรูปแบบการบริหารในลักษณะมหาวิทยาลัย รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน 4 ปี และนำมาตรฐานการสอนระดับปริญญาตรี ในสาขาพาณิชยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกามาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปัจจุบัน

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 11 :
นายจรูญ สีบุญเรือง / พ.ศ. 2512 - 2515


นายจรูญ สีบุญเรือง ได้เข้ามาร่วมงานกับหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2494 เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของบิดา คือนายเค็งเหลียน สีบุญเรือง กรรมการของหอการค้าไทยชุดแรก สมัยที่พระยาภิรมย์ภักดีเป็นประธาน จากนั้นนายจรูญได้ก้าวสู่ตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 11 และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คนที่ 6 ระหว่างปี 2512 – 2515 ติดต่อกัน 2 วาระ

ในระยะนั้นนายจรูญได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาทำสัญญาระยะยาว เพื่อขายข้าวโพดให้แก่ญี่ปุ่นและไต้หวันติดต่อกันถึง 4 ปี ทำให้เกษตรกรไทยมีความเชื่อมั่น ในการผลิตสินค้า ซึ่งมูลค่าการค้าในแต่ละปีนั้น สูงถึง 2,500 – 3,000 ล้านบาท และจากผลงานอันโดดเด่นดังกล่าว ท่านจึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้ทำงานในคณะกรรมการชุดต่างๆ อาทิ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภานิติบัญญัติ กรรมการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น และยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเวลาต่อมา

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 12 :
นายอบ วสุรัตน์ / พ.ศ. 2516 - 2521


อบ วสุรัตน์ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยวายัน ประเทศฮ่องกง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เดินทางกลับมาประกอบอาชีพค้าขายด้วยความรู้ความสามารถและวิริยะอุตสาหะ จึงสามารถร่วมก่อตั้งบริษัทวิทยาคม บริษัทเก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันในสมัยนั้น

นายอบได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2522 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2526 นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย

ในปี 2516 - 2521 ท่านได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 12 รวมทั้งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี 2516 - 2522 อีกด้วย จากประสบการณ์การทำงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล นายอบจึงเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน ซึ่งท่านได้นำมาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่หอการค้าไทยอย่างมาก

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 13 :
นายกิจจา วัฒนสินธุ์ / พ.ศ. 2522


กิจจา วัฒนสินธุ์ เคยรับราชการตำรวจประจำอยู่กองตำรวจภูธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างนั้นได้ศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม (ต่อมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอบได้เป็น เนติบัณฑิตไทย เมื่อปี 2476 จากนั้นจึงศึกษาระดับปริญญาโทจนสำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

นายกิจจาเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งสุดท้ายคือหัวหน้าแผนกในกรมราชทัณฑ์ จากนั้นจึงได้ลาออกจากราชการ และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา

นายกิจจาได้รับเป็นที่ปรึกษากฎหมายของหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2495 และเข้าเป็นสมาชิกของหอการค้าไทยเมื่อปี 2498 กรรมการหอการค้าไทยเมื่อปี 2501 หลังจากทำงานในตำแหน่งประธานกรรมการหลายคณะในหอการค้าไทย และสร้างประโยชน์ให้หอการค้าไทยตลอดมา ในปี 2522 นายกิจจาจึงได้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทยคนที่ 13 ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสภาวิทยาลัยการค้า

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 14 :
นายแพทย์สมภพ สุสังกร์กาญจน์ / พ.ศ. 2522 - 2529


นายแพทย์สมภพ สุสังกร์กาญจน์ คุณหมอหนุ่มอนาคตไกลได้ผันตัวเองจากการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเข้าสู่โลกธุรกิจตั้งแต่ปี 2489 และได้เข้ามาทำงานให้หอการค้าไทยตั้งแต่ปี 2501 เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของบิดา คือ นายประทุม สุสังกร์กาญจน์ 

ในปี 2502 นายแพทย์สมภพได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการหอการค้าไทย สมัยที่นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ เป็นประธานกรรมการฯ จนกระทั่งในปี 2522 นายแพทย์สมภพได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 14 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปีซึ่งนับเป็นช่วงเวลายาวนานอีกหน้าในประวัติศาสตร์ของหอการค้าไทย

ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นความสำเร็จ ที่เป็นรูปธรรมในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน จากนั้นได้มีการขยายแนวคิด ในการจัดตั้ง กรอ.จังหวัดทั่วประเทศ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของหอการค้าไทยในการรณรงค์เผยแพร่ และสนับสนุนให้นักธุรกิจทั่วประเทศเห็นความสำคัญและรวมตัวกันจัดตั้ง “หอการค้าจังหวัด” ขึ้น

นายแพทย์สมภพได้ระดมสรรพกำลังออกไปเผยแพร่แนวคิดในการจัดตั้งหอการค้าจังหวัด ในที่สุดความพยายามอย่างยิ่งยวดก็ประสบผลสำเร็จ ในปี 2529 หอการค้าจังหวัดจึงถือกำเนิดขึ้นครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเป็นกำลังสำคัญของภาคเอกชนในท้องถิ่นจวบจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ท่านยังได้พยายามให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยหอการค้าไทยอยู่เสมอ และเพิ่มหลักสูตรปริญญาตรีเป็น 5 คณะ 20 สาขาวิชา ต่อมาทบวงมหาวิทยาลัย ได้ยกฐานะวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็น “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ในปี 2527

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 15 :
นายยุกต์ ณ ถลาง / พ.ศ. 2530 - 2534


ยุกต์ ณ ถลาง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทบริหารธุรกิจ ด้านบัญชีและการเงิน พร้อมประกาศนียบัตรวิชาชีพบัญชีจากประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงกลับมารับราชการ ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย และร่วมก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในลำดับที่ 1ซึ่งสำนักสอบบัญชีของท่านได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค

นายยุกต์มีบทบาทในการดำเนินงานหอการค้าไทยเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งกรรมการและเหรัญญิกหอการค้าไทย ในปี 2522 รองประธานกรรมการหอการค้าไทยในปี และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศในปี 2530

จากบทบาทของนักบัญชีมืออาชีพสู่บทบาทของนักบริหาร นายยุกต์ได้นำประสบการณ์ ทั้งในภาคราชการ ภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ตลอดจนความเป็นนักวิชาการมาทำงานประสานความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 16 :
นายสุวิทย์ หวั่งหลี / พ.ศ. 2534 - 2537


นายสุวิทย์ หวั่งหลี นักธุรกิจและนักการธนาคารผู้ประสบความสำเร็จ ได้เข้ามาร่วมงานกับหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2510 ในตำแหน่งกรรมการและเลขาธิการ ทั้งยังริเริ่มและสานต่องานต่างๆ ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2536 ท่านจึงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ คนที่ 16 ของหอการค้าไทย ควบคู่ไปกับตำแหน่งประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ส่งผลกระทบทางลบด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว นายสุวิทย์ได้ออกแถลงการณ์ร่วมในนามภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) เรียกร้องให้ ทุกฝ่ายยุติการกระทำที่อาจนำไปสู่ความไม่สงบ

นอกจากนี้ ยังได้มีนโยบายจัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐบาล เพื่อเร่งรัดแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคราชการ การปรับปรุงกฎหมายธุรกิจที่ล้าสมัย การเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า และการลงทุนของภูมิภาค เป็นต้น

ด้านการศึกษา นายสุวิทย์ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดการเรียนการสอน ในคณะนิติศาสตร์ โดยเน้นไปในด้านกฎหมายธุรกิจ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รองรับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการริเริ่มให้มีการนำคณะกรรมการหอการค้าไทยจากส่วนกลางไปประชุมสัญจรร่วมกับหอการค้าจังหวัดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายสุวิทย์ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตกระหว่างเดินทางไปประชุม ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายที่ท่านได้ทำให้กับหอการค้าไทย

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 17 :
นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ/ พ.ศ. 2537 - 2539


โพธิพงษ์ ล่ำซำ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จาก Temple University สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในหลายบริษัท อาทิ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

นายโพธิพงษ์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 17 ระหว่างปี 2537 - 2539 ช่วงเวลาดังกล่าว ท่านได้สร้างคุณประโยชน์นานัปการ อาทิ การประสานความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ การให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ มีการจัดตั้งคณะกรรมการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขึ้นมาดูแลปัญหาของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการการค้าชายแดน เพื่อพัฒนาการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อันมีลักษณะเฉพาะ และมีมูลค่าการค้านับแสนล้านบาทต่อปี เป็นต้น

ด้วยความรู้ความสามารถระดับผู้บริหารมืออาชีพ นายโพธิพงษ์จึงนำประสบการณ์ดังกล่าวมาทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศในด้านต่างๆ เช่น การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการการพาณิชย์ ที่ปรึกษากรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และได้รับ พระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เนื่องจากท่านสามารถประสานงานกับหอการค้าได้ทั่วประเทศ เป็นต้น

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 18 :
นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ / พ.ศ. 2540 - 2543


นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการเงินการธนาคาร จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ บริษัท ภัทรสาธิต จำกัด บริษัท ศรีราชานคร จำกัด รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งอื่นๆ ในองค์กรธุรกิจชั้นนำ

นายวิเชียรดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 18 ระหว่างปี 2540 - 2543 ท่านได้นำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์มาพัฒนางานทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งสถาบันยุทธศาสตร์ทางการค้า เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลความรู้สำหรับภาคธุรกิจได้ใช้เป็นแนวทางปรับตัวรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างรุนแรงในช่วงนั้น รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดตั้งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจขึ้น เพื่อดูทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจอีกด้วย นอกจากนั้น ท่านยังให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกและนักธุรกิจ จึงได้ขยายบริการการรับรองเอกสารเพื่อการส่งออกไปยังกรมศุลกากรท่าเรือคลองเตย และท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ มีการจัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศ หอการค้าไทย” ขึ้น ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 19 :
ดร. อาชว์ เตาลานนท์ / พ.ศ. 2544 - 2547


ดร.อาชว์ เตาลานนท์ สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการและระบบงาน จาก Illinois Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ รองประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ดร.อาชว์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย 2 สมัยติดต่อกัน ระหว่างปี 2544 - 2547 ระหว่างนั้นท่านได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการไทย เพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วยจัดอบรมสัมมนาเพิ่มพูนความรู้ด้านเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น และช่วยเป็นสื่อกลางในการติดต่อหาตลาดอีกด้วย

ทั้งนี้ ท่านยังกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เพื่อความชัดเจนในการบริหารงานของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งยังได้เชื่อมโยงหอการค้าทั่วประเทศเข้าด้วยกันผ่านเว็บไซต์ www.thaiechamber.com ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ ระหว่างกัน

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมอีกด้วย เช่น การได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผลิตและจำหน่าย “เสื้อทองแดง” เพื่อปลุกกระแสความนิยมในตราสินค้าของคนไทย และในช่วงที่ประเทศชาติกำลังประสบปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ ดร.อาชว์ ได้เป็นแกนนำในการดำเนินโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกส่วนหนึ่งนำไปสร้างเป็นบ้านพักถาวรให้แก่ผู้ประสบภัยสึนามิ

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 20 :
นายประมนต์ สุธีวงศ์ / พ.ศ. 2548 - 2551


นายประมนต์ สุธีวงศ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมเครื่องกล จาก University of Kansas ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 

นายประมนต์ได้เข้ามาร่วมงานกับหอการค้าไทยตั้งแต่ปี 2526 ในตำแหน่งกรรมการหอการค้าไทย จากนั้นจึงดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2533 - 2536 และรองประธานกรรมการคนที่ 1 ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2541 - 2543

ด้วยความสามารถของนักบริหารมืออาชีพผนวกกับประสบการณ์การทำงานให้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายสิบปี นายประมนต์จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 2 สมัยติดต่อกัน ระหว่างปี 2548 - 2551

ในระยะเวลานั้นประเทศไทยมีความไม่สงบทางการเมือง เผชิญปัญหาด้านพลังงาน รวมถึงปัญหาความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก แต่นายประมนต์ก็ได้ผสานความร่วมมือร่วมใจในการทำงานกับคณะกรรมการหอการค้าไทยร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐบาลสานต่องานต่างๆ จากคณะกรรมการรุ่นก่อน และดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรและภาคเศรษฐกิจส่วนรวม เช่น ส่งเสริมการค้าชายแดน ส่งเสริมการลงทุนด้านลอจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ท่านยังมุ่งเน้นการเยี่ยมเยียนหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และจัดทำคู่มือการดำเนินงานของหอการค้าจังหวัดเพื่อให้มีมาตรฐานและมีความเป็นเอกภาพมาจนถึงปัจจุบัน

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 21 :
นายดุสิต นนทะนาคร / พ.ศ. 2552 - 2554


นายดุสิต นนทะนาคร สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธาจาก Youngstown State University และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก Ohio State University เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ค้าวัสดุซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ปรึกษากรรมการ และกรรมการบริหาร ธนาคารออมสิน เป็นต้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารกรุงไทย

จากประสบการณ์การทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ทำให้ นายดุสิตมีความเชี่ยวชาญและถือเป็นผู้บริหารมืออาชีพที่มีความสามารถอีกคนหนึ่งของประเทศ นายดุสิตเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในปี 2548 - 2550 และดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในปี 2550 - 2552 ก่อนจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในปี 2552 จนถึงปี 2554

นอกจากจะเป็นผู้สืบสานเจตนารมณ์จากประธานกรรมการรุ่นก่อน ท่านยังมี ความคิดริเริ่มและให้ความสำคัญในการดำเนินงานต่างๆ เช่น โครงการ 1 ไร่ 1 แสน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร การรณรงค์การปราบปรามคอร์รัปชัน เป็นต้น

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 22 :
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล / พ.ศ. 2554 - 2555


นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์บัณฑิตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศจาก Manchester University ประเทศอังกฤษ ด้วยความเป็นผู้เชียวชาญด้านธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอ ท่านเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม ประธานกรรมการ ASEAN Federation of Textile Industries (AFTEX) ประธานกรรมการสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK

นอกจากนายพงษ์ศักดิ์จะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในด้านธุรกิจอย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือในแวดวงธุรกิจ เมื่อเข้ามาทำงานให้กับทางหอการค้า จึงสามารถสร้างคุณูปการให้แก่หอการค้าได้ในหลากหลายด้าน เช่น เป็นคณะทำงานด้านทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประธานกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรรมการคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) เป็นต้น

ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ประกอบกับความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ นายพงษศักดิ์ อัสสกุลจึงเข้ามาเป็นประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 22 ต่อจากนายดุสิต นนทะนาคร ซึ่งถึงแก่กรรมลง และได้ดำเนินการสานต่องานสำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและเอกชน ในการป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นต้น นอกจากนี้ยังดำเนินการสานต่อด้านต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 23 :
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ / พ.ศ. 2556 - 2559


นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 23 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารการจัดการ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา โดยปณิธานที่อยู่ในใจมาตลอดของการทำธุรกิจ คือความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เข้าใจความต้องการและช่วยหาทางออกที่ดีขึ้นเสมอ การเป็นคนที่ไม่เคยหยุดคิดและไม่หยุดต่อยอด ผลงานขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยจึงเกิดขึ้นมากมาย อาทิ

ยุคแห่งการปฏิรูป โดยเป็นแกนนำ 7 องค์กรภาคเอกชน สร้างเวทีกลางผ่าทางตันให้กับประเทศในช่วงวิกฤติทางการเมือง จนเกิดเป็นการเจรจากับคู่ขัดแย้งในทุกภาคส่วน

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยพยายามยกระดับความสามารถของธุรกิจขนาดเล็ก รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกรให้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นหัวใจของการเพิ่มขีดความสามารถก็คือ การกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจตลอดทั้ง Value Chain รองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0
สานพลังประชารัฐ คุณอิสระได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้าภาคเอกชนในคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม อาทิ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ ผลักดันการลดขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business การสร้าง New S-Curve เป็นต้น
กำเนิด YEC คุณอิสระมีแนวคิดที่จะสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพราะคนกลุ่มนี้มีพลัง และเข้าใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากนำมาผนวกกับประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน จะสามารถสร้างบุคลากรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งได้ใน อนาคต กระทั่งในปัจจุบัน มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าแล้วกว่า 5,000 รายจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 


ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 24 :
นายกลินท์ สารสิน / พ.ศ. 2560 - 2563


คุณกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 24 (พ.ศ.2560-2563) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานกรรมการในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลก กำลังเผชิญกับกระแส Disruption มากมาย นโยบายยกระดับเศรษฐกิจ “Trade & Services 4.0” จึงเกิดขึ้น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้ปรับตัวเข้าสู่สภาพการค้าใหม่ ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมเป็นหลัก พร้อมเดินหน้าโครงการ Big Brother เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะให้ SMEs ได้เติบโตอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการร่วมวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกับภาครัฐ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น คุณกลินท์ยังริเริ่มแนวคิด “ไทยเท่” ที่นำวัฒนธรรมท้องถิ่น ผสานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม สร้างให้เกิดเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ พร้อมเป็นแบบอย่างของคนที่ภาคภูมิใจในความเป็นไทย

ปี 2561 ทิศทางการขับเคลื่อนของหอการค้าไทย มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ด้วยการกำหนดแผนงานเป็น Radar Chart เชื่อมโยงกันทั้งเครือข่าย มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากเป็นจุดแข็งและมีสัดส่วนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น โครงการ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน จึงเกิดขึ้น สร้างการตื่นตัว และสร้างเม็ดเงินให้กับคนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น คุณกลินท์ยังท้าทายการทำงาน ด้วยโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ซึ่งทำให้หลายคน “มืดแปดด้าน” และสงสัยในความเป็นไปได้ แต่สุดท้าย ผลสำเร็จอันเกิดจากวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมนี้ ก็เกิดขึ้นจริง ส่วนในด้านการติดตามภาวะเศรษฐกิจ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ริเริ่มจัดทำดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 4 ดัชนี (ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก ดัชนีภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ) เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในการดำเนินธุรกิจต่อไป

2562 ปีที่ทุกคนชะลอการจับจ่ายใช้สอย คุณกลินท์ได้ริเริ่มโครงการ “ไทยช่วยไทยคือไทยเท่” เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยกันใช้จ่าย ช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังคงเดินต่อไปได้ รวมทั้งได้รุกคืบด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มกำลัง ด้วยการพัฒนา Application TAGTHAi แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวไทยแบบครบวงจรด้วยตัวคุณเอง ตอบรับนักท่องเที่ยวยุคดิจิทัล เชื่อมต่อธุรกิจท่องเที่ยวทุกมิติ เหนือสิ่งอื่นใด คือการดูแลสมาชิกให้มีความเข้มแข็งจึงได้มีการพัฒนา Mobile Application ภายใต้ชื่อ TCC Connect สื่อกลางทางธุรกิจสำหรับสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศและเครือข่าย เชื่อมโยงส่วนลดและสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจมากมาย ที่คัดสรรสำหรับ “คนการค้า” โดยเฉพาะ

ปี 2563 วิกฤติโควิด กระตุกให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก คุณกลินท์คือหนึ่งในแนวร่วมสำคัญที่ช่วยระดมสมอง ชี้แนะแนวทางการปรับตัว วางแผนเปิดเมือง...เป็นขั้นเป็นตอน พร้อมเปิดรับบริจาค จัดสร้างและส่งมอบห้องคัดกรอง สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมขยายผลไทยเท่ ด้วยการสร้าง “Happy Model” รองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด สร้างช่องทางช่วยเหลือเกษตรกร ระบายผลผลิต...ท่ามกลางปัญหากำลังซื้อ เสริมองค์ความรู้ผู้ประกอบการผ่าน TCC Online Training และอีกมากมาย จนกระทั่งปัญหาการระบาดระลอกแรกคลี่คลาย

นี่คือเศษเสี้ยวของการทำงานหนักตลอด 4 ปี ที่ไม่เคยมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา หรือสถานที่ ไม่มีค่าจ้าง...ไม่มีผลประโยชน์อื่นใด มีเพียงความตั้งใจดี ที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และมันคือตัวตนของผู้ชายคนนี้
          
“กลินท์  สารสิน”