ย่อ / ขยาย

รับรองเอกสารเพื่อการส่งออก (Export Documentation Services)

1. บริการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) 

ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (CO) เป็นเอกสารสำคัญ ที่ใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้า เพื่อยืนยันกับศุลกากรว่า สินค้านั้น    มีแหล่งกำเนิดในประเทศใด ในการทำการค้าระหว่างประเทศ ผู้นำเข้าจะขอให้ผู้ส่งออกดำเนินการขอใบรับรองฯ CO                 จากหอการค้าไทย แนบมาพร้อมกับการส่งมอบสินค้า เพื่อใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรเสมอ

หอการค้าไทย ให้บริการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ประเภทไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (Non-Preferential Certificate
of Origin) ภายใต้พระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509  โดยให้บริการในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ เรียกว่า  ระบบ CO Online          เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออก สามารถยื่นขอใบรับรองฯ CO และพิมพ์ใบรับรองฯได้เองทุกสถานที่ตลอดเวลา 

ใบรับรองฯ CO ของหอการค้าไทย ได้รับความเชื่อถือจากศุลกากรและผู้นำเข้า เนื่องจากการตรวจรับรองแหล่งกำเนิด          ยึดตามกฏแหล่งกำเนิดสินค้าขององค์การการค้าโลก (WTO Rules of Origin) มีการตรวจสอบหลักฐานการผลิต และสถานที่ผลิต สามารถยืนยันแหล่งกำเนิดสินค้าได้ 

ดังนั้น แม้ใบรับรองฯ CO ของหอการค้าไทย จะนำไปใช้ลดหย่อนภาษีศุลกากรไม่ได้ แต่ศุลกากรและผู้นำเข้า ก็มีความต้องการ    ใบรับรองฯ ดังกล่าว โดยศุลกากรใช้ใบรับรองฯ CO เพื่อบริหารมาตรการนำเข้า เช่น การจัดเก็บภาษีให้สอดคล้องกับประเทศ  แหล่งกำเนิดที่แท้จริง การควบคุมการนำเข้าตามมาตรการภายในของแต่ละประเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้นำเข้า ก็มีความต้องการใบรับรองฯ CO ของหอการค้าไทย เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจรับรอง และมั่นใจว่าหากศุลกากรตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) หอการค้าไทยสามารถยืนยันแหล่งกำเนิดสินค้าของใบรับรองฯ ที่ถูกตรวจสอบให้แก่ผู้นำเข้าได้อย่างรวดเร็ว

2. บริการรับรองเอกสารการค้า (Legalization)
การรับรองเอกสาร เกิดจากหลักการที่ว่า เอกสารที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่ง หากต้องการนำไปใช้ในอีกประเทศ เพื่อประโยชน์        ทางกฎหมาย จะต้องทำให้เอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงเสียก่อน

ระบบการทำเอกสารให้เป็นของแท้ มี 2 ระบบ ประกอบด้วย
1. การรับรองเอกสารโดยโนตารีพับลิค (Notary Public) 
เกิดขึ้นตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาเฮก (Hague Contention 1961) ซึ่งประเทศภาคีอนุสัญญาฯ จะมีการจัดตั้งหน่วยงาน        โนตารีพับลิค ทำหน้าที่รับรองเอกสาร

2. การรับรองเอกสารแบบห่วงโซ่ของแท้ (Chain Authentication Process)
เป็นระบบการรับรองเอกสารซึ่งปฎิบัติมาก่อนจะมีอนุสัญญาเฮกเกิดขึ้น โดยเอกสารต้องผ่านการรับรองแบบห่วงโซ่ จากหน่วยงานของทั้งสองประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการต่างประเทศ และ สถานทูตของประเทศที่จะนำเอกสารไปใช้ 

สำหรับประเทศไทย ใช้ระบบการรับรองเอกสารแบบห่วงโซ่ โดยเอกสารที่จะนำไปอ้างอิงในต่างประเทศ ต้องผ่านการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตของประเทศที่จะนำเอกสารไปใช้ 

การให้บริการรับรองเอกสารการค้า ของหอการค้าไทย 
ตามประเพณีปฎิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปฎิบัติมายาวนาน หอการค้ามีบทบาทเป็นหน่วยงานต้นทาง ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองเอกสารการค้าให้กับคู่ค้าทั้งสองฝ่าย ต่อมาเมื่อเกิดระบบการรับรองเอกสารแบบห่วงโซ่ของแท้ การนำเอกสารการค้ามารับรองที่หอการค้า ก็ยังถือปฎิบัติต่อมา ควบคู่ไปกับการนำเอกสารไปรับรองที่กรมการกงสุลและสถานทูต