ย่อ / ขยาย

ThaiGAP


มาตรฐาน ThaiGAP เป็นมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ภายใต้การดำเนินงานของ “สถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย หรือ สถาบัน ThaiGAP” สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตผัก - ผลไม้ของไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ปลูกและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของผลผลิตที่ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเกษตรของไทยให้เป็นที่ยอมรับ

มาตรฐาน ThaiGAP คือ มาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ภายใต้การดำเนินงาน สถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย (ThaiGAP Institute หรือ สถาบัน ThaiGAP) ด้วยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งพัฒนาและดัดแปลงมาจากข้อกำหนดของมาตรฐานสากลของภาคเอกชน ที่รู้จักกันในชื่อ GLOBALG.A.P เป็นของกลุ่มผู้ค้าปลีกในยุโรป
 
มาตรฐาน ThaiGAP ถือเป็นมาตรฐานระบบผลิตที่มีการจัดการคุณภาพความปลอดภัย ในระยะแรกเป็นสินค้าประเภทผักและผลไม้ และจะพัฒนาให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรประเภทอื่นต่อไป ที่ยังคงความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพผู้ปฏิบัติการ และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
 

ท่านจะได้อะไรจากมาตรฐาน ThaiGAP

  • เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
  • ความปลอดภัยด้านอาหารของสินค้าเกษตรและอาหารโดยเฉพาะสินค้าที่ปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตรและไม่เกินค่า MRL ที่กำหนด พร้อมกับสินค้าที่ผลิตได้อย่างถูกสุขอนามัย
  • กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร
  • เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
  • สร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยในตัวสินค้าเกษตรและอาหาร


ในปัจจุบัน สถาบัน ThaiGAP ได้ร่วมมือกับกลุ่มห้างค้าปลีก (Modern Trade) และตลาดสด (Fresh Market) ทำโครงการผลักดันให้มีการจัดจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน ThaiGAP รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตร และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายให้กับห้างค้าปลีกและตลาดสด ได้มีการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มมูลค่าของการทำธุรกิจสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย
 
มาตรฐาน ThaiGAP ถือเป็นมาตรฐานทางเลือกหนึ่งสำหรับห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ที่ต้องการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย ตามมาตรฐานการผลิตที่เทียบเท่าสากล  เป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการค้า เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้ากับพันธมิตรในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อีกด้วย


ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

มาตรฐาน ThaiGAP ได้นำเทคโนโลยี QR  Code มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ผลิตได้ง่าย โดยผ่าน Smart Phone ที่สามารถทำให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำ QR Code จะแสดงข้อมูลฟาร์มผู้ผลิต เช่น ชื่อฟาร์ม ชื่อเกษตรกร พื้นที่การผลิต ตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์ (GPS) ประเภทของผลผลิตในฟาร์ม มาตรฐานที่ได้รับการรับรอง หมายเลขใบรับรอง และวันที่ได้รับการรับรอง เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าผักและผลไม้ที่ได้มาตรฐาน ThaiGAP มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานของสินค้าที่วางจำหน่ายและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย


ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ

มาตรฐาน ThaiGAP ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการนำมาตรฐาน ThaiGAP ไปใช้ในระบบผลิต ที่ทำให้เกิดความปลอดภัย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หน่วยงานพันธมิตรของเรา มีดังนี้

  • สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • กลุ่มห้างค้าปลีก
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) - GISTDA
  • หน่วยตรวจรับรอง ThaiGAP
  • บริษัท ทูฟนอร์ด (ประเทศไทย) จํากัด
  • บริษัท เอ็นเอสเอฟ เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด
  • บริษัท คอนโทรลยูเนี่ยนเวิลด์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด