ย่อ / ขยาย

อนุญาโตตุลาการ

อนุญาโตตุลาการ เป็นการพิจารณาคดีและชี้ขาดคดีทางพาณิชย์ โดยอนุญาโตตุลาการเอกชน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคู่คดี โดยคำชี้ขาด (Award) มีลักษณะคล้ายคลึงคำพิพากษาของศาล สามารถใช้บังคับได้ในประเทศไทยและประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์ค (New York Convention) ทุกประเทศในอาเซียนรวม 156 ประเทศทั่วโลก


อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คือ การระงับข้อพิพาททางเลือกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความยินยอมของคู่สัญญา ซึ่งคู่สัญญาจะตกลงกันทำสัญญาที่เรียกว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ (Arbitration agreement) โดยคู่สัญญาสามารถตกลงที่จะใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการได้เฉพาะคดีแพ่งและคดีทางพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับธุรกิจและการค้า โดยที่คู่สัญญาสามารถแต่งตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทที่เรียกว่า อนุญาโตตุลาการ [Arbitrator(s)] ซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสามารถนำไปบังคับตามคำชี้ขาดได้ทั้งในประเทศไทยและประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์ค (New York Convention) ทุกประเทศในอาเซียนรวม 156 ประเทศทั่วโลก การระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายกันทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการลงทุนและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Investment and International Business Transaction) ตลอดจนการขนส่งระหว่างประเทศ (Logistic) เป็นต้น
 

ประวัติความเป็นมา

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันหนึ่งที่มีสำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการการค้าไทย โดยที่ประเทศไทยได้มีพันธกรณีภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (อนุสัญญานิวยอร์ค ค.ศ. 1958) 

ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 สำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการจึงได้ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับอนุญาโตตุลาการการค้าไทยอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าวและเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในปัจจุบัน

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2551 ได้มีโครงการความร่วมมือ “งานอนุญาโตตุลาการ” ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อเผยแพร่งานอนุญาโตตุลาการให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายตลอดจนส่งเสริมความรู้ ทักษะและประสบการณ์เกี่ยวกับงานอนุญาโตตุลาการให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ด้วย