หอการค้าไทย ร่วมจุดประกายเกษตรไทยสู่ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารของโลก

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจุดประกายเกษตรไทยสู่ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารของโลก ภายในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อน IGNITE THAILAND "จุดประกายเกษตรไทยสู่ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารของโลก" โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมบรรยายพิเศษ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี

การสัมมนาครั้งนี้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เกษตรกร Smart Farmer และ Young Smart Farmer ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของภาคการเกษตร โดยประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจไทยต้องเป็นหนึ่ง กำหนด 8 วิสัยทัศน์ ที่มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดย 1 ใน 8 วิสัยทัศน์ที่สำคัญและถือเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ วิสัยทัศน์การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก

กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้ายกระดับภาคเกษตรให้เป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี ด้วย 9 นโยบายสำคัญ ได้แก่

  • นโยบายที่ 1 การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร
  • นโยบายที่ 2 แปลงเกษตรกรในระบบดิจิทัลและการประกันภัยพืชผล
  • นโยบายที่ 3 ส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของที่ดิน
  • นโยบายที่ 4 การบริหารจัดการน้ำ
  • นโยบายที่ 5 การผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง
  • นโยบายที่ 6 การส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรมีความเข้มแข็ง
  • นโยบายที่ 7 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
  • นโยบายที่ 8 การเปลี่ยนแปลงของสภาวะสิ่งแวดล้อม
  • นโยบายที่ 9 การทำงานและการวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือ

 

นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีการแบ่งกลุ่ม Agri-Workshop เพื่อระดมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กลุ่มที่ 1 จุดประกาย ยกระดับราคาสินค้า ส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสม ลดต้นทุนการผลิต เกษตรสู่การเพิ่มรายได้ แบ่งเป็น 6 กลุ่มย่อย ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง, ยางพารา ปาล์มน้ำมัน, ทุเรียน ลำไย, ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้, โคเนื้อ ไก่เนื้อ และกุ้ง กลุ่มที่ 2 จุดประกาย มาตรการเสริมแกร่งเกษตรกรและผู้ประกอบการ แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ ปัจจัยการผลิต (พันธุ์ ดิน น้ำ น้ำท่วม น้ำแล้ง), เทคโนโลยี (Precision Farming & Machinery), Sustainability & Risk Management (carbon credit ลดเผา ประกันภัย)

ทั้งนี้ ความเห็นต่าง ๆ จะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ (ร่าง) Roadmap และมาตรการใหม่ที่ชัดเจนที่จะช่วยผลักดันให้เกษตรไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก ต่อไป

ข่าวอื่นๆ