ย่อ / ขยาย

ความเป็นมาของหอการค้าไทย


“หอการค้า” กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ณ เมืองมาแซล ประเทศฝรั่งเศส โดยมีบทบาทในการส่งเสริม ช่วยเหลือ และรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มพ่อค้าที่เป็นสมาชิก

คุณูปการของการก่อตั้งหอการค้านี้ ทำให้พ่อค้าเมืองมาแซลสามารถรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่นั้น พ่อค้านักธุรกิจแทบทุกประเทศทั่วโลกก็ได้มีการรวมกลุ่มในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ เพื่อดำเนินงานด้านส่งเสริมการค้า การเกษตร การอุตสาหกรรมและการเงินให้สอดคล้องกับธุรกิจภายในประเทศของตน และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกเป็นสำคัญ


ในขณะเดียวกัน การพาณิชย์ในประเทศไทยยังเป็นไปในรูปแบบต่างคนต่างค้า พ่อค้าจะมีการหารือรวมกลุ่มกันบ้างก็เฉพาะผู้ค้าสินค้าประเภทเดียวกัน  ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงและกรมที่ราชการตั้งขึ้นเพื่อบำรุงส่งเสริมและเผยแพร่การพาณิชย์เท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 แนวความคิดเรื่อง “หอการค้า” ในประเทศไทยจึงกำเนิดขึ้น โดยพ่อค้าหัวก้าวหน้าและมีการศึกษาดีกลุ่มหนึ่ง ภายใต้การนำของ นายเล็ก โกเมศ ซึ่งพิจารณาเห็นว่า ในเมื่อต่างประเทศแทบทุกแห่งล้วนมีหอการค้าประจำประเทศนั้นๆ ซึ่งสามารถอำนวยประโยชน์ให้กับพ่อค้า ประชาชน รวมไปถึงประเทศชาติได้อย่างมหาศาล ประเทศไทยเองก็มีพ่อค้านักธุรกิจชาวไทยอยู่จำนวนไม่น้อย ถ้าหากรวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่น ย่อมส่งผลดีทั้งในแง่ของการดำเนินอาชีพได้สะดวกลุล่วง และเกิดพลังที่จะต่อรองประสานงานกับรัฐบาลได้ราบรื่นขึ้น


อันความคิดริเริ่มนั้น หากไม่มีผู้ลงมือกระทำย่อมไม่เกิดผล เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของหอการค้าไทย นายเจือ เพ็ญภาคกุล หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังสือ เล็ก โกเมศ อนุสรณ์ (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพนายเล็ก โกเมศ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2505) ว่าสมควรยกย่องนายเล็ก โกเมศ เป็นอย่างยิ่ง เพราะแรกเริ่มที่มีการรวมกลุ่มปรารภกันเรื่องหอการค้าที่สโมสรสามัคคีจีนสยาม ตรอกกัปตันบุช นั้น มีบรรดาพ่อค้าปรับทุกข์เรื่องถูกบีบคั้นจากอิทธิพลและอำนาจต่างชาติมากมาย แต่นายเล็ก โกเมศ เป็นผู้เดียวที่เอาจริงเอาจังในการจัดตั้งหอการค้าไทย โดยให้คำรับรองว่าจะอุปถัมภ์ให้เกิด  Chamber of Commerce ของไทย และยินดีให้ใช้บ้านของตนเป็นสถานที่ประชุมปรึกษาหารือ
 

ต่อมา ในวันที่ 16 ธันวาคม 2475 ปรากฏหลักฐานว่ามีการประชุมเรื่องการจัดตั้งหอการค้าไทยที่บ้านของนายเล็ก โกเมศ ตำบลตรอกกัปตันบุช โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 6 ท่าน คือ

  • พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)
  • นายเล็ก โกเมศ
  • นายเจือ เพ็ญภาคกุล
  • นายทองดี อิศระกุล
  • นายย่งฮั้ว แซ่ฮุน
  • นายเอ้ง ภาคสุวรรณ

 

ในการประชุมครั้งนั้น นอกจากจะตกลงกันเรื่องจะจัดตั้งหอการค้าไทยแล้ว ยังได้กำหนดชื่อหอการค้าเป็นภาษาอังกฤษว่า Siamese Chamber of Commerce